As of 2 July 2024, our online forms will be changing.  The current forms will no longer be available, and we kindly request any saved forms to be submitted by the same date.  The replacement forms will be available by 3 July 2024

สิทธิในข้อมูลผู้บริโภคและความเป็นส่วนตัวของคุณ

สิทธิในข้อมูลผู้บริโภคคืออะไร?

สิทธิในข้อมูลผู้บริโภค (Consumer Data Right: CDR) ช่วยให้คุณสามารถควบคุมข้อมูลของคุณได้มากขึ้น ซึ่งรวมถึงความสามารถในการแชร์ข้อมูลของคุณกับบุคคลภายนอกที่คุณไว้วางใจได้อย่างปลอดภัย สิทธินี้มีไว้สำหรับผู้บริโภคที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปและธุรกิจต่าง ๆ

CDR มีเป้าหมายเพื่อช่วยให้คุณติดตามการเงิน บริการสาธารณูปโภคและบริการอื่น ๆ ของคุณเพื่อเปรียบเทียบและสับเปลี่ยนไปใช้ข้อเสนอที่แตกต่างกันไปได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ CDR ยังมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมและการแข่งขันกันในหมู่ผู้ให้บริการซึ่งเป็นการช่วยให้คุณเข้าถึงสินค้าและบริการที่ตรงกับความต้องการของคุณ

จะมีการเริ่มใช้ CDR ในภาคธนาคารตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2020 จากนั้นจะมีการนำไปใช้ในภาคส่วนอื่น ๆ ของระบบเศรษฐกิจซึ่งรวมถึงภาคพลังงานและภาคโทรคมนาคม

ระบบ CDR ได้รับการออกแบบเพื่อรักษาข้อมูลของคุณให้ปลอดภัย มีการสร้างกลไกการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวอย่างแน่นหนาไว้ในระบบ และผู้ให้บริการจะสามารถเข้าถึงข้อมูลของคุณได้ก็ต่อเมื่อพวกเขาผ่านการรับรองและคุณได้ให้ความยินยอมแล้วเท่านั้น

สำนักงานกรรมาธิการด้านข้อมูลแห่งออสเตรเลีย (Office of the Australian Information Commissioner: OAIC) เป็นองค์กรที่กำกับดูแลด้านความเป็นส่วนตัวของระบบ CDR ให้เป็นไปตามกฎหมายและรับคำร้องเรียนเกี่ยวกับวิธีดูแลจัดการข้อมูล CDR ของคุณ

คณะกรรมาธิการด้านการแข่งขันและผู้บริโภคแห่งออสเตรเลีย (Australian Competition and Consumer Commission: ACCC) เป็นองค์กรที่รับผิดชอบการรับรองผู้ให้บริการและบังคับใช้กฎระเบียบเกี่ยวกับ CDR

ข้อมูล CDR คืออะไร?

ข้อมูล CDR ของคุณเป็นข้อมูลเกี่ยวกับคุณ เช่น ชื่อและรายละเอียดการติดต่อของคุณ รวมไปถึงข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับการใช้สินค้าหรือบริการอย่างใดอย่างหนึ่งของคุณ

ข้อมูล CDR ของคุณถูกเก็บไว้โดย ‘ผู้เก็บข้อมูล’ เช่น ธนาคารหรือผู้ให้บริการประเภทอื่น

ฉันจะเข้าถึงและแชร์ข้อมูล CDR ของฉันได้อย่างไร?

ภายใต้ CDR คุณสามารถแชร์ข้อมูลของคุณกับผู้ให้บริการซึ่งผ่านการรับรองแล้วที่คุณเลือกได้อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ยังมีการเรียกผู้ให้บริการว่า “ผู้รับข้อมูลที่ผ่านการรับรองแล้ว”

คุณสามารถใช้ข้อมูล CDR ของคุณเพื่อตรวจสอบ เปรียบเทียบ และเข้าถึงบริการใหม่ ๆ ตัวอย่างเช่น คุณอาจเลือกที่จะแชร์ข้อมูลของคุณกับผู้ให้บริการที่นำเสนอแอปสำหรับวางแผนการใช้จ่ายหรือสำหรับเก็บเงิน

CDR อนุญาตให้คุณเลือกว่า:

  • ผู้ให้บริการรายใดสามารถเห็นและใช้ข้อมูลของคุณ
  • จะถ่ายโอนข้อมูลประเภทใด
  • คุณต้องการให้นำข้อมูลของคุณไปใช้เพื่ออะไร
  • จะหยุดแชร์ข้อมูลเมื่อใด
  • ขอให้ลบข้อมูลของคุณเมื่อไม่มีความจำเป็นต้องใช้มันแล้ว

เมื่อคุณเลือกผู้ให้บริการซึ่งผ่านการรับรองแล้ว พวกเขาจะอธิบายให้คุณทราบถึงขั้นตอนการเข้าถึงข้อมูล CDR ของคุณจาก ‘ผู้เก็บข้อมูล’ เช่น ธนาคาร

คุณจะต้องให้คำยินยอมกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งสองรายในการแชร์ข้อมูลของคุณ

ฉันจะให้คำยินยอมอย่างไร?

การให้คำยินยอมให้เข้าถึงข้อมูลของคุณเป็นส่วนสำคัญของการคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของคุณ ผู้ให้บริการซึ่งผ่านการรับรองแล้วจะสามารถเข้าถึงข้อมูล CDR ของคุณเมื่อได้รับคำยินยอมจากคุณเท่านั้น

การให้คำยินยอมของคุณจะต้องทำโดยสมัครใจและทำเพื่อจุดประสงค์เฉพาะเจาะจงตามที่ตกลงกันไว้ คำยินยอมไม่สามารถบอกเป็นนัยหรือสันนิษฐานเอาเองได้หรือได้มาด้วยการตั้งค่าอัตโนมัติหรือตัวเลือกซึ่งมีการเลือกไว้ก่อนแล้ว

คุณควรได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วนเกี่ยวกับวิธีนำข้อมูลของคุณไปใช้ก่อนที่คุณจะให้คำยินยอม

คุณสามารถเลือกได้ว่าจะแชร์ข้อมูลอะไร ให้นำข้อมูลนั้นไปใช้อย่างไร และคุณต้องการแชร์ข้อมูลผ่านระบบ CDR เป็นระยะเวลานานเท่าใด

คุณสามารถหยุดแชร์ข้อมูลของคุณเมื่อใดก็ได้ คำยินยอมให้ใช้ข้อมูล CDR ของคุณจะหมดอายุหลังจาก 12เดือน

ผู้ให้บริการซึ่งผ่านการรับรองแล้วควรขอคำยินยอมจากคุณเพื่อเก็บข้อมูลที่มีความจำเป็นอย่างสมเหตุสมผลเพื่อขายสินค้าหรือบริการของพวกเขาเท่านั้น

ฉันสามารถแชร์ข้อมูล CDR จากบัญชีร่วมได้หรือไม่?

หากคุณต้องการเข้าถึงหรือแชร์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบัญชีร่วม ทั้งคุณและผู้ถือบัญชีอีกฝ่ายต้องตกลงอนุญาตให้ทำเช่นนั้นได้ก่อน ผู้ให้บริการของคุณจะอนุญาตให้คุณแสดงความต้องการของคุณได้ผ่านทางบริการจัดการบัญชีแบบออนไลน์

ด้วยบริการนี้ ทั้งคุณและผู้ถือบัญชีอีกฝ่ายสามารถจัดการการตั้งค่าของคุณซึ่งรวมถึงการระบุว่าคุณยินดีที่จะให้ผู้ถือบัญชีอีกฝ่ายทำเรื่องขอแชร์ข้อมูล CDRแทนคุณได้หรือไม่

ฉันจะจัดการข้อมูล CDR ของฉันได้อย่างไร?

ผู้ให้บริการ CDR จะต้องให้สิทธิ์ในการเข้าถึงหน้าจอสรุปรวมข้อมูลผู้บริโภคแบบออนไลน์ (online consumer dashboard) กับคุณซึ่งจะอนุญาตให้คุณจัดการกิจกรรมการแชร์ข้อมูลของคุณได้

คุณจะได้รับรายละเอียดผ่านทางหน้าจอสรุปรวมข้อมูลของคุณเกี่ยวกับสิ่งที่คุณยินยอมและข้อมูลของคุณถูกนำไปใช้เพื่ออะไรบ้าง

หน้าจอสรุปรวมข้อมูลแบบออนไลน์ยังให้คุณสามารถเพิกถอนคำยินยอมของคุณและขอให้ลบข้อมูล CDR ของคุณเมื่อไม่มีความจำเป็นแล้วอีกด้วย

ธุรกิจที่อยู่ในระบบ CDR จะต้องเตรียม ‘นโยบาย CDR’ ไว้ให้คุณ นโยบายนี้จะต้องรวมข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับวิธีดูแลจัดการข้อมูล CDR ของคุณ นอกจากนี้มันยังจะบอกคุณด้วยว่าคุณต้องทำอย่างไรหากคุณคิดว่าข้อมูลของคุณถูกนำไปใช้ในทางมิชอบ

ฉันจะแก้ไขข้อมูล CDR ของฉันได้อย่างไร?

คุณมีสิทธิ์ที่จะขอแก้ข้อมูล CDR ของคุณหากมันไม่ถูกต้อง หมดอายุ ไม่สมบูรณ์ หรือสร้างความเข้าใจผิด

หากคุณคิดว่าข้อมูล CDR ของคุณไม่ถูกต้อง คุณสามารถติดต่อธุรกิจเพื่อขอให้พวกเขาแก้ไขข้อมูล

หากธุรกิจนั้นไม่ยอมแก้ไขข้อมูล CDR ของคุณ พวกเขาต้องแจ้งเหตุผลกับคุณและอธิบายวิธีส่งคำร้องเรียนหากคุณไม่พอใจกับคำตอบของพวกเขา

ความส่วนตัวของฉันได้รับการคุ้มครองอย่างไร?

ธุรกิจหนึ่งจะสามารถดูแลจัดการข้อมูล CDR ของคุณได้ก็ต่อเมื่อพวกเขาผ่านการรับรองโดยคณะกรรมาธิการด้านการแข่งขันและผู้บริโภคแห่งออสเตรเลีย (ACCC) แล้วเท่านั้นและสามารถทำตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัดสำหรับ:

  • การรวบรวม การใช้ และการเก็บรักษาข้อมูล
  • การรักษาความปลอดภัยของข้อมูล
  • การคุ้มครองความเป็นส่วนตัวของคุณ
  • การได้รับคำยินยอมของคุณ

หากพวกเขาไม่สามารถทำตามข้อกำหนดเหล่านี้ พวกเขาอาจถูกระงับหรือเพิกถอนการรับรองของพวกเขาหรือพวกเขาอาจถูกปรับหรือดำเนินการทางกฎหมายได้

คุณเป็นบุคคลผู้เดียวที่สามารถขอให้ถ่ายโอนข้อมูลไปยังธุรกิจที่ผ่านการรับรองแล้วและคุณเป็นผู้ควบคุมว่าจะแชร์ข้อมูลอะไร เพื่อวัตถุประสงค์ใดและเป็นระยะเวลานานเท่าใด

เมื่อคุณให้คำยินยอมแล้ว ข้อมูล CDR ของคุณจะถูกถ่ายโอนผ่านทางระบบออนไลน์ที่ปลอดภัย

มีการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลของฉันอย่างไรบ้าง?

ข้อกำหนดเรื่องการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลถูกสร้างไว้ในระบบ CDR ผู้ให้บริการซึ่งผ่านการรับรองแล้วจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดเรื่องการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่เคร่งครัดในเรื่องของการกำกับดูแล การควบคุมระบบขั้นต่ำ การทดสอบ การเฝ้าติดตาม การประเมิน และการรายงาน โดยทั่วไปแล้วพวกเขาต้องทำลายหรือลบตัวตนข้อมูลของคุณหากมันไม่มีความจำเป็นแล้ว

นอกจากนี้ผู้ให้บริการจะต้องปฏิบัติตามกระบวนการแจ้งเหตุข้อมูลรั่วไหลให้ผู้เกี่ยวข้องทราบ (Notifiable Data Breaches scheme) ซึ่งรวมถึงการแจ้งให้คุณและสำนักงานกรรมาธิการด้านข้อมูลแห่งออสเตรเลีย (OAIC) ทราบเกี่ยวกับการรั่วไหลของข้อมูลที่ร้ายแรง

แม้ว่าจะมีการใช้มาตรการคุ้มครองที่แข็งแกร่ง แต่คุณควรปกป้องตนเองในโลกออนไลน์อยู่เสมอ ผู้ให้บริการซึ่งผ่านการรับรองแล้วจะไม่มีวันขอรหัสผ่านส่วนตัวของคุณเพื่อแชร์ข้อมูล CDR

ฉันส่งคำร้องเรียนได้อย่างไร?

หากคุณกังวลเกี่ยวกับวิธีดูแลจัดการข้อมูลของคุณโดยธุรกิจที่คุณได้ขอข้อมูลไปหรือธุรกิจที่คุณกำลังจะส่งข้อมูลไปให้ คุณสามารถยื่นคำร้องเรียนกับเราได้

อันดับแรกคุณควรร้องเรียนไปยังธุรกิจที่คุณคิดว่าดูแลจัดการข้อมูลของคุณอย่างไม่เหมาะสมหรือละเมิดความเป็นส่วนตัวของคุณและให้เวลาพวกเขาตอบกลับตามสมควร เราคิดว่า 30 วันเป็นระยะเวลาที่เหมาะสม

หากพวกเขาไม่ตอบกลับคำร้องเรียนของคุณหรือคุณไม่พอใจกับคำตอบของพวกเขา คุณสามารถร้องเรียนมาที่เราได้

เราสามารถตรวจสอบและพยายามแก้ไขคำร้องเรียนเรื่องความเป็นส่วนตัวที่ร้องเรียนโดยบุคคลทั่วไปและธุรกิจบางแห่ง

โดยทั่วไปแล้ว คำร้องเรียนจะต้องเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นในระยะเวลาน้อยกว่า 12 เดือนที่ผ่านมา

เราอาจส่งต่อคำร้องเรียนบางส่วนไปยังกระบวนการภายนอกเพื่อแก้ไขความขัดแย้งหรือคณะกรรมาธิการด้านการแข่งขันและผู้บริโภคแห่งออสเตรเลีย (Australian Competition and Consumer Commission : ACCC) หากเราพิจารณาว่าพวกเขามีความเหมาะสมที่สุดที่จะทบทวนเรื่องนั้น ๆ

ภายใต้ระบบ CDR คุณยังมีสิทธิ์ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในชั้นศาลหากคุณได้รับความสูญเสียหรือความเสียหายอันเป็นผลมาจากการละเมิดมาตรการคุ้มครองหรือกฎระเบียบเรื่องความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถยื่นคำร้องเรียนกับเราได้ที่ oaic.gov.au/cdr-complaints

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับ CDR ได้ที่ cdr.gov.au and oaic.gov.au/cdr